NCDs คืออะไร? ทำไมควรระวังโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง?

NCDs คือ ภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของคนไทยในยุคปัจจุบัน โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด กำลังคร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ มาทำความเข้าใจกับ NCDs ไปพร้อม ๆ กัน พร้อมเรียนรู้วิธีดูแลสุขภาพเพื่อห่างไกลจากโรคร้ายนี้ เพื่อชีวิตที่แข็งแรงและมีความสุขในระยะยาว เริ่มต้นจากวันนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
NCDs คือโรคอะไร ทำรู้จักกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) คือกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโดยตรง แต่มีสาเหตุมาจากปัจจัยความเสี่ยงด้านพันธุกรรม ร่างกาย สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมส่งผลให้เกิดโรคการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ บกพร่องในระยะยาวและมีความรุนแรง ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลัก ๆ มีดังนี้ [1]
- โรคมะเร็ง (Cancer) - เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งแบ่งตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้องอกและลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ
- โรคเบาหวาน (Diabetes) - เกิดจากความผิดปกติของการผลิตอินซูลินหรือการใช้อินซูลินในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป
- โรคหัวใจ (Heart disease) - เป็นกลุ่มของความผิดปกติที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- โรคปอดเรื้อรัง (Chronic lung disease) - เป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคหืด
- โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) - เป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการสูญเสียเซลล์สมอง ส่งผลต่อความจำ การคิด และพฤติกรรม
- โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) - คือภาวะที่แรงดันโลหิตในหลอดเลือดสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคหืด (Asthma) - เป็นโรคที่ส่งผลต่อการหายใจ โดยเกิดจากการอักเสบของหลอดลมและเพิ่มการหลั่งเมือก ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก
- ปัญหาสุขภาพจิต (Mental health ailments) - ครอบคลุมโรคทางจิตเวชต่าง ๆ เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล โรคจิต และโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ
- ความบอดหรือสายตาเลือนราง (Blindness) - อาจเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน เบาหวานขึ้นตา หรือความเสื่อมของจอประสาทตา
- โรคอ้วน (Obesity) - คือภาวะที่ร่างกายมีน้ำหนักมากเกินไปจากการสะสมไขมันส่วนเกิน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ
โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้มักสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ก่อนที่จะแสดงอาการให้เห็น ซึ่งบ่อยครั้งก็อาจสายเกินไปที่จะรักษาให้หายขาด หรืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีผู้เสียชีวิตจาก NCDs มากกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั่วโลก
อาการและสัญญาณของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เป็นภัยคุกคามสุขภาพที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาจมีอาการไม่รุนแรง หรือไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น การตรวจพบอาการและสัญญาณเบื้องต้นจึงมีความสำคัญ แม้ว่าแต่ละโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะมีลักษณะและความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน แต่ก็มีอาการและสัญญาณทั่วไปที่พบร่วมกันได้ [2] เช่น
- อาการอ่อนล้าผิดปกติ โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ซึ่งอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- อาการปวดเรื้อรังบางตำแหน่งในร่างกาย เช่น หัวใจ หลอดเลือด ข้อ ปวดหลัง
- ความดันโลหิตสูง หรือระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้น
- ภาวะท้องผูก ท้องเสีย หรือปัสสาวะผิดปกติเป็นประจำ
หากสังเกตเห็นอาการเบื้องต้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งจะช่วยให้การรักษาเริ่มต้นได้เร็ว และชะลอหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงในระยะยาวได้ เพราะการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น ดีกว่าการรักษาเสมอ
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อ NCDs
ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด NCDs ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ถึงแม้จะมีข้อมูลที่บอกว่าผู้สูงอายุมีโอกาสเกิด NCDs มากกว่าคนกลุ่มอายุอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs ก่อนวัย 70 ปีถึง 17 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของผู้เสียชีวิตจาก NCDs ก่อนวัย 70 ปีทั้งหมด เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ NCDs นั้นมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การขาดกิจกรรมทางกาย การสัมผัสกับควันบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมลพิษทางอากาศ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกเพศทุกวัย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแรงขับเคลื่อนอื่น ๆ เช่น การขยายตัวของเมืองโดยขาดการวางแผน โลกาภิวัตน์ที่นำไปสู่วิถีชีวิตที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ และการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิด NCDs มากขึ้น [3]
พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเมตาบอลิซึม (Metabolic risk factors) ที่ทำให้อัตราเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น นำไปสู่ภาวะสุขภาพย่ำแย่ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
แม้ว่า NCDs จะมีความเสี่ยงต่อทุกคน แต่เราก็สามารถลดความเสี่ยงและป้องกัน NCDs ได้ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น
- การเลิกสูบบุหรี่และเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่า 8 ล้านคนต่อปี ทั้งจากการสูบบุหรี่โดยตรงและการได้รับควันบุหรี่มือสอง
- การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม เพราะการบริโภคเกลือมากเกินไปมีส่วนทำให้เสียชีวิต 1.8 ล้านคนในแต่ละปี
- การลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิต 3 ล้านคนต่อปีจากแอลกอฮอล์ มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคมะเร็ง [4]
- การเพิ่มกิจกรรมทางกาย เพราะการขาดการออกกำลังกายมีส่วนทำให้เสียชีวิตประมาณ 830,000 คนในแต่ละปี
การปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เป็นหนทางสำคัญในการลดโอกาสการเกิด NCDs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่ยังรวมถึงครอบครัวและคนใกล้ชิด ควรร่วมกันสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในเชิงบวก เพื่อสุขภาพที่ดีของคนทั้งสังคมต่อไป
การรับมือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
การรับมือกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เราต้องตระหนักว่า NCDs ไม่ใช่แค่ปัญหาสุขภาพ แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยรวม ดังนั้นการรับมือกับ NCDs จึงต้องดำเนินการหลายมิติ ดังนี้
- การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยง NCDs เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดงบประมาณ รัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถใช้มาตรการราคาถูกและมีผลกระทบสูงเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพได้
- การเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งครอบคลุมถึงการคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และการดูแลประคับประคอง ผ่านการเสริมสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อให้สามารถตรวจจับและให้การรักษาในระยะแรกเริ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การลงทุนกับการดูแลจัดการ NCDs อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาระยะยาว และป้องกันไม่ให้ครัวเรือนต้องเข้าสู่วงจรความยากจนเพราะค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินไป
- การติดตามแนวโน้มของ NCDs และปัจจัยเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้กำหนดนโยบาย แผนงาน และจัดลำดับความสำคัญในการรับมือ NCDs ได้อย่างเหมาะสม
เมทิลโฟเลตมีบทบาทสำคัญอย่างไรกับโรค NCDs
5-MTHF (5-Methyl Tetrahydrofolate) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการที่เรียกว่า "One-Carbon Metabolism" ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานทางชีวภาพหลายอย่างในร่างกาย เช่น การสร้าง DNA การควบคุมการแสดงออกของยีน และการรักษาสมดุลของกรดอะมิโน กระบวนการเมธิเลชั่นที่เกี่ยวข้องกับ DNA เป็นกระบวนการที่สำคัญซึ่งโฟเลตช่วยในการควบคุมการแสดงออกของยีนต่างๆ และช่วยป้องกันการกลายพันธุ์ของ DNA ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรค [5]
ในกรณีของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคทางระบบประสาท โฟเลตมีบทบาทสำคัญในการรักษาความเสถียรของ DNA หากร่างกายขาดโฟเลต กระบวนการซ่อมแซม DNA อาจทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ในกรณีของโรคหัวใจ การขาดโฟเลตอาจทำให้ระดับโฮโมซีสตีน (Homocysteine) สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
นอกจากนี้โฟเลตยังมีความสำคัญในการป้องกันโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน โดยโฟเลตช่วยในการควบคุมระดับโฮโมซีสตีน ซึ่งหากมีระดับสูงเกินไปอาจทำให้เกิดการทำลายเซลล์ประสาทและเสี่ยงต่อการเสื่อมสมรรถภาพของสมอง การเสริมโฟเลตในผู้ที่มีการเมตาบอลิซึมของโฟเลตผิดปกติสามารถช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ โฟเลตยังช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์และซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจากการเกิดโรคต่าง ๆ อีกด้วย
ซึ่งการขาดโฟเลตสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารที่ขาดโฟเลต การดูดซึมโฟเลตที่ไม่ดีในทางเดินอาหาร หรือการมีปัญหาทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้โฟเลตได้อย่างเต็มที่ ในบางกรณี การเสริมโฟเลตในรูปแบบของอาหารเสริมหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเหล่านี้ได้ [6]
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับโรค NCDs จะเป็นความท้าทาย แต่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) [7] ได้ระบุให้การลดอัตราการเสียชีวิตจาก NCDs ลงหนึ่งในสามภายในปี 2573 เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ทั่วโลกต้องบรรลุให้ได้ อย่างไรก็ตามเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนี้ ด้วยการหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลจากความเสี่ยง NCDs ตั้งแต่วันนี้