ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เบาหวานขณะตั้งครรภ์คืออะไร? สาเหตุและวิธีป้องกันที่คุณแม่ควรรู้

เบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่แม่ท้องหลายคนไม่อยากเจอ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้! ถ้าคุณแม่กำลังตั้งท้องอยู่ละก็ มาทำความเข้าใจภัยเงียบจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไปพร้อม ๆ กันดีกว่า ว่าคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีสังเกตอาการและป้องกันรักษาไม่ให้น้ำตาลพุ่ง รวมถึงข้อควรระวังต่าง ๆ สำหรับคุณแม่และลูกน้อย อ่านจบแล้วจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับมันได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น เพื่อสุขภาพดีของคุณแม่และเจ้าตัวน้อยในครรภ์


โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร?

เบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือที่เรียกว่า Gestational Diabetes เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไประหว่างการตั้งครรภ์ โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นในช่วงกลางถึงปลายของการตั้งท้อง ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 24-28 เบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดจากฮอร์โมนในรก ทำให้ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอินซูลินมีหน้าที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้ตามปกติ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป นำไปสู่ภาวะเบาหวานได้ในที่สุด [1]

การเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์ เพราะว่าภาวะนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนหลังตั้งครรภ์ แตกต่างจากผู้หญิงที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ 2 อยู่แล้วก่อนตั้งครรภ์

แม้ว่าเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะเป็นไปได้สูงเมื่อระดับน้ำตาลสูงเกินไป แต่โดยปกติแล้วภาวะนี้สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ชีวิตและการกินอย่างเหมาะสม ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ส่วนใหญ่มักไม่มีผลแทรกซ้อนรุนแรง และสามารถคลอดลูกที่แข็งแรงได้อย่างปลอดภัย


อัตราการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์

อัตราการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus: GDM) มีความแตกต่างกันตามภูมิภาคและกลุ่มประชากรต่าง ๆ จากข้อมูลของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ในปี 2021 ระบุว่า ประมาณ 5% ถึง 9% ของการตั้งครรภ์ในสหรัฐอเมริกามีภาวะ GDM [2] ในระดับโลก การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes Research and Clinical Practice ประมาณการว่า อัตราการเกิด GDM ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 14.2% [3]


อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิด GDM อาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ เชื้อชาติ ภูมิศาสตร์ และวิธีการวินิจฉัยที่ใช้ในแต่ละประเทศ การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Diabetes Reports ระบุว่า อัตราการเกิด GDM มีความผันแปรสูง โดยขึ้นอยู่กับเกณฑ์การวินิจฉัยและประชากรที่ศึกษา [4] ดังนั้นการเปรียบเทียบอัตราการเกิด GDM ระหว่างประเทศหรือภูมิภาคต่าง ๆ ควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ร่วมด้วย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง


สาเหตุของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เบาหวานขณะตั้งครรภ์มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และกระบวนการใช้พลังงานของร่างกาย ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยย่อยสลายกลูโคสเพื่อนำพาไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย และรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้คงที่ แต่หากเกิดภาวะดื้ออินซูลินหรือขาดอินซูลิน ร่างกายจะไม่สามารถนำกลูโคสไปใช้ได้ตามปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนเป็นเบาหวานในที่สุด

ในช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนจากรกที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของทารกอาจขัดขวางการทำงานของอินซูลิน ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามปกติ นำไปสู่ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ทุกคนมีโอกาสเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แต่มีบางปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่

  • โรคหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง
  • ความอ้วนหรือน้ำหนักเกินก่อนตั้งครรภ์
  • เคยมีเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในครรภ์ก่อน
  • พ่อแม่พี่น้องเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)
  • อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  • มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป และมีเชื้อสายเเชื้อชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ฮิสแปนิก อินเดียนอเมริกัน หรือเกาะแปซิฟิก ก็มักมีความเสี่ยงของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นด้วย [5]


อาการของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

โดยปกติแล้ว เบาหวานขณะตั้งครรภ์มักไม่มีอาการเด่นชัดนัก อาการที่เกิดขึ้นจะรู้สึกไม่ถึงโดยตรง และมักจะตรวจพบเมื่อคุณหมอสั่งตรวจน้ำตาลในช่วงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจพบได้บ้าง ได้แก่

  • ปัสสาวะบ่อย
  • กระหายน้ำมาก
  • อ่อนเพลีย ง่วงนอนผิดปกติ
  • คลื่นไส้อาเจียน

ผลกระทบของเบาหวานขณะตั้งครรภ์ต่อแม่และลูก

หากเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไม่ได้รับการควบคุมให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้


ความเสี่ยงที่แม่อาจเจอ ได้แก่

  • ต้องผ่าคลอด (หากทารกตัวใหญ่เกินไป)
  • ครรภ์เป็นพิษ (ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์)
  • มีโอกาสเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตเพิ่มขึ้น [6]

ส่วนลูกในท้องอาจได้รับผลกระทบ เช่น

  • น้ำหนักแรกเกิดสูงกว่าปกติ
  • เกิดปัญหาการหายใจตอนคลอด
  • ระดับน้ำตาลต่ำหลังคลอด อาจทำให้ชัก
  • โอกาสเป็นโรคอ้วนเมื่อโตขึ้น
  • คลอดก่อนกำหนด
  • มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต

การตรวจวินิจฉัยเบาหวานขณะตั้งครรภ์

แพทย์จะตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดของหญิงตั้งครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของอายุครรภ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่เชื่อว่าจะให้ผลตรวจที่แม่นยำที่สุด แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงสูง แพทย์ก็อาจจะทำการตรวจให้เร็วขึ้นได้เช่นกัน

การตรวจเบาหวานจะทำโดย

  1. การทดสอบน้ำตาลกลูโคสแบบเร่งด่วน (Glucose Challenge Test) หรือเรียกว่าการตรวจคัดกรอง โดยให้คุณแม่ดื่มน้ำหวาน และตรวจเลือดหลังดื่มไปแล้ว 1 ชั่วโมง ถ้าระดับน้ำตาลสูงเกินเกณฑ์ แพทย์จะนัดตรวจซ้ำด้วยวิธีทดสอบความทนทานต่อกลูโคส
  2. การทดสอบความทนทานต่อกลูโคส (Glucose Tolerance Test) จะทำเมื่อผลตรวจคัดกรองผิดปกติ โดยจะให้คุณแม่งดอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ แพทย์จะเจาะเลือดทั้งก่อนและหลังจากให้ดื่มน้ำหวาน ในช่วงระยะเวลา 1 2 และ/หรือ 3 ชั่วโมง การตรวจนี้ช่วยวินิจฉัยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อย่างชัดเจน

การดูแลรักษาเบาหวานขณะตั้งครรภ์

หากคุณแม่มีเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทีมแพทย์จะนัดตรวจบ่อยขึ้นเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของลูกน้อย พร้อมกับดูแลให้คุณแม่ควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามมาตรฐาน โดยทำได้ดังนี้

  • ติดตามการเจริญเติบโตของทารก หมอจะนัดทำอัลตราซาวนด์มากขึ้นเพื่อดูว่าทารกโตผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หมอจะดูแนวโน้มของน้ำตาลในเลือดว่าต่ำหรือสูงเกินไปบ่อยแค่ไหน

หากคุณแม่ต้องคุมระดับน้ำตาลด้วยตัวเอง คุณหมออาจแนะนำให้ใช้เครื่องตรวจน้ำตาลที่ปลายนิ้ว ซึ่งต้องใช้ตัวเครื่อง เข็มเจาะ และแถบทดสอบ วิธีตรวจทำโดยเจาะเลือดปลายนิ้วแล้วหยดลงแถบตรวจ สอดเข้าที่ตัวเครื่อง รอตัวเลขปรากฏในไม่กี่วินาที คุณหมอหรือนักโภชนาการจะสอนวิธีใช้เครื่องตรวจให้ อาจต้องใช้เวลาหน่อยกว่าจะถนัด แต่ก็พร้อมให้คำปรึกษาหากมีข้อสงสัยใด ๆ คุณแม่ต้องจดบันทึกมื้ออาหารและผลตรวจน้ำตาลลงกระดาษ แอปพลิเคชัน หรือวิธีที่ตกลงกับแพทย์ เพื่อให้ทีมแพทย์ดูและปรับแนวทางการกินได้ถูกต้อง เช่น ลดอาหารคาร์โบไฮเดรต เพื่อให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ เป็นต้น


นอกจากการควบคุมระดับน้ำตาล การได้รับโฟเลตในปริมาณที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาของทารกและการป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ โฟเลตมีบทบาทช่วยลดความเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท โดยแนะนำให้เลือกใช้ Methylfolate ซึ่งเป็นรูปแบบที่ร่างกายนำไปใช้ได้ทันที และลดความเสี่ยงของการสะสมของโฟลิกแอซิดที่ไม่ได้แปลงสภาพ (Unmetabolized Folic Acid: UMFA) ที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การเสื่อมสภาพของระบบประสาทในระยะยาว หรือความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเลือกเสริมอาหารหรือปรับปริมาณโฟเลตให้เหมาะสมกับภาวะร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์

การจัดแผนอาหารและเช็คน้ำตาลให้เป็นประจำสม่ำเสมอ ปกติแล้วก็เพียงพอต่อการควบคุมเบาหวานที่เกิดขณะตั้งครรภ์ ในบางกรณีอาจต้องฉีดยาอินซูลินช่วย ตามวิธีที่แพทย์แนะนำ ส่วนใหญ่จะให้ฉีดยาเข้าหน้าท้อง ต้นขา หรือสะโพกในแต่ละวัน ความถี่ขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ คุณหมอจะแนะนำวิธีฉีดและบอกปริมาณยาที่เหมาะสม ซึ่งคุณแม่ต้องใช้ยาให้ถูกต้องตามที่แพทย์สั่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการควบคุมเบาหวานให้ได้ผล


ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม

ผลน้ำตาลควรวัดตอนตื่นนอนตอนเช้า (ก่อนกินอะไรเลย) และ 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณแม่ตื่นนอนตอน 6.15 น. ก็เช็คน้ำตาลก่อน แล้วเช็คอีกทีตอน 8.00 น. หากทานข้าวเช้าเสร็จตอน 7.00 น. โดยบันทึกลงสมุดหรือแอพตามที่ตกลงกับแพทย์

สมาคมสูติแพทย์อเมริกันแนะนำว่า ระดับน้ำตาลที่พึงประสงค์ควรอยู่ในเกณฑ์ดังนี้

  • ก่อนทานอาหาร 95 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือต่ำกว่า
  • 1 ชั่วโมงหลังทานอาหาร 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือต่ำกว่า
  • 2 ชั่วโมงหลังอาหาร 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือต่ำกว่า

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น คุณหมอจะพิจารณาปรับเกณฑ์ดังกล่าวให้เหมาะสมกับภาวะร่างกายของคุณแม่เป็นรายบุคคลอีกครั้ง


อาหารที่ควรเลี่ยงหากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรเลือกรับประทานอาหารที่ดี มีคุณค่าทางโภชนาการ และไม่ก่อให้ระดับน้ำตาลพุ่งสูงเกินไป วิธีกินที่ดีควรเน้น

  • เลี่ยงอาหารแปรรูป เครื่องดื่มหวาน
  • เลือกอาหารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ใยอาหาร และไขมันที่ดี ในปริมาณเหมาะสมต่อมื้อ
  • ทานมื้อเล็กลง แต่เพิ่มความถี่ในการทานมากขึ้น
  • จัดเวลาทานอาหารให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน

บางคนอาจปรับอาหารที่กินประจำเล็กน้อย ก็ช่วยควบคุมน้ำตาลได้ ขณะที่บางคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินมากขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็มีความไวต่ออาหารแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน คุณแม่ไม่ควรเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น สิ่งสำคัญคือต้องหาสิ่งที่เหมาะกับตัวคุณเองมากที่สุด


Methyl folate ช่วยลดการเกิดเบาหวานในคุณแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างไร

Methyl folate มีบทบาทสำคัญในการปรับสมดุลระดับโฮโมซีสเทอีน ส่งเสริมการทำงานของอินซูลิน ลดการอักเสบ และสนับสนุนการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ได้ การเลือกเสริมด้วย methyl folate โดยเฉพาะในคุณแม่ที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคเบาหวานหรือภาวะดื้ออินซูลิน อาจช่วยป้องกันปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยงานวิจัยหนึ่งมีการศึกษากลุ่มตัวอย่างหญิงตั้งครรภ์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างปี 2022 ถึง 2023 โดยมีการตรวจวัดเมตาโบไลต์ของโฟเลตในระบบไหลเวียนโลหิต ได้แก่ 5-เมทิลเตตระไฮโดรโฟเลต (5-MTHF) ในเม็ดเลือดแดง (RBC), 5,10-เมทิลีนเตตระไฮโดรโฟเลต (5,10-CH2-THF), 5-ฟอร์มิลเตตระไฮโดรโฟเลต (5-CHO-THF), และโฟลิกแอซิดที่ไม่ได้ถูกเผาผลาญ (UMFA) รวมถึงโฮโมซิสเตอีน (HCY), 5-MTHF, และเมทิลมาโลนิกแอซิด (MMA) ในพลาสมา โดยทำการวัดในช่วงอายุครรภ์ 6-17 สัปดาห์ และ 20-26 สัปดาห์ การบริโภคโฟลิกแอซิด (FA) และการตรวจหาพันธุกรรม MTHFR และ MTRR ก็ได้ถูกตรวจสอบเช่นกัน โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) ได้รับการวินิจฉัยในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ ด้วยการทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (OGTT) 75 กรัม ความสัมพันธ์ระหว่างสถานะของโฟเลตและ GDM ได้รับการประเมินโดยใช้แบบจำลองเชิงเส้นทั่วไปที่หลากหลาย การถดถอยแบบลอจิสติก และการถดถอยแบบเส้นลูกบาศก์จำกัด (restricted cubic spline regression) โดยปรับปัจจัยกวนที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ผลลัพธ์ปรากฎว่าระดับ UMFA และ HCY ที่สูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก รวมถึงระดับ RBC 5-MTHF และ 5,10-CH2-THF และพลาสมา 5-MTHF ที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ระยะกลาง มีความสัมพันธ์กับ GDM ผลการศึกษานี้บ่งชี้ถึงความเชื่อมโยงที่แตกต่างกันระหว่างเมตาโบไลต์ของโฟเลตแต่ละชนิดกับการเกิด GDM ดังนั้นการศึกษาชี้ให้เห็นถึงบทบาทของโฟเลตและสารชีวเคมีในระบบเมตาบอลิซึมที่ส่งผลต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพราะหากมีระดับโฟเลตที่สูงในช่วงกลางการตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการควบคุมระดับน้ำตาลที่ผิดปกติได้ [7]


โดยสรุปแล้ว เบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะที่ต้องจับตาดูแลอย่างใกล้ชิดในการตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจนำไปสู่ความเสี่ยงบางอย่างได้ทั้งต่อมารดาและทารก แต่ก็สามารถควบคุมได้ด้วยการปรับวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน ทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และร่วมมือกันดูแลกับทีมแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาสำคัญนี้ไปได้ด้วยดีและมีสุขภาพที่แข็งแรง ทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์